เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[141] เงิน ทอง หรือนครที่สร้างไว้แล้วอย่างดี
มีคูเรียงราย ยากที่จะข้ามได้
มีหอรบและป้อมอันมั่นคง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านเข้าไป
ไม่กลัวสิ่งที่ควรกลัว เรายังไม่เห็นเลย สุมุขะ
(หงส์สุมุขะเมื่อจะทูลเหตุนั้น จึงกราบทูลว่า)
[142] ข้าพระองค์ไม่ต้องการบริวารที่ถืออาวุธ นคร หรือทรัพย์
เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายมีปกติเที่ยวไปในอากาศ
ย่อมไปยังหนทางอันเป็นสถานที่มิใช่หนทาง
[143] ก็พระองค์ได้ทรงสดับมาว่า
ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
ข้าพระองค์จะกล่าววาจาที่มีประโยชน์
ขอพระองค์พึงดำรงอยู่ในความสัตย์เถิด
[144] ด้วยว่าถ้อยคำที่พวกข้าพระองค์กล่าวแล้ว
แม้จะเป็นสุภาษิต จะกระทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้
ผู้มิใช่คนประเสริฐมักกล่าวคำเท็จและหยาบช้า
[145] พระองค์รับสั่งให้ขุดสระอันเกษมนี้ตามคำของพวกพราหมณ์
และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทานไปทั่วทิศทั้ง 10 นี้
[146] นกทั้งหลายจึงลงสู่สระโบกขรณีของพระองค์
ซึ่งมีน้ำใสสะอาด ที่สระบัวนั้นมีของกินเพียงพอ
และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายที่สระนั้น
[147] พวกข้าพระองค์ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว
จึงพากันมาใกล้สระโบกขรณีของพระองค์
พวกข้าพระองค์นั้นจึงถูกบ่วงของพระองค์รัด
คำประกาศนั้นเป็นภาษิตเท็จของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :107 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 2.มหาหังสชาดก (534)
[148] บุคคลมุ่งการกล่าวเท็จและความโลภ
คือความต้องการอันชั่วช้าแล้วล่วงเลยสนธิทั้ง 21ไป
ย่อมเข้าถึงนรกอันไม่มีความสำราญ
(พระราชาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[149] สุมุขะ เรามิได้ประพฤติผิดที่จับท่านมาที่นี้
เพราะความโลภก็หามิได้ เราทราบมาว่า ท่านทั้งหลาย
เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียดอ่อน
เป็นนักคิดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
[150] ทำอย่างไรพญาหงส์ทั้ง 2
จึงจะมากล่าววาจาอันมีประโยชน์ ณ ที่นี้
สุมุขะเพื่อนรัก นายพรานถูกเราสั่ง
จึงได้จับท่านด้วยเหตุนั้น
(หงส์สุมุขะได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า)
[151] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นกาสี
ข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อชีวิตใกล้เข้ามาถึงคราวใกล้ตาย
จึงจะกล่าววาจาที่มีประโยชน์หามิได้เลย
[152] ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ หรือว่าฆ่านกด้วยนกต่อ
หรือเบียดเบียนผู้เป็นพหูสูตด้วยสุตะ
จะมีอะไรเล่าเลวทรามไปกว่านั้น
[153] ก็ผู้ใดกล่าวถ้อยคำอันประเสริฐ
แต่อิงอาศัยธรรมอันไม่ประเสริฐ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมพลาดจากโลกทั้ง 2
คือ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
1 สนธิทั้ง 2 หมายถึงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้ง 2 อธิบายว่า คนที่ทำบาปธรรมเหล่านี้ไว้
ต่อไปเบื้องหน้าก็จะล่วงเลยปฏิสนธิที่เป็นสุคติเข้าถึงนรกที่ไม่น่ายินดีไป (ขุ.ชา.อ. 8/146/255)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :108 }